จรัด สุนทรสิงห์ (ศาสตราจารย์)
ศาสตราจารย์จรัด สุนทรสิงห์ เกิดเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2449 ที่จังหวัดระยอง เป็นบุตรคนโตของพันตำรวจเอกพระเริงระงับภัย (คิด สุนทรสิงห์) และนางสวน สุนทรสิงห์ ในระยะแรกได้รับการศึกษาที่โรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัยจนจบชั้นประถมศึกษาชั้นปีที่ 4 จากนั้นเข้าเรียนต่อชั้นมัธยม 1-2 ที่โรงเรียนวัดบวรนิเวศน์ ชั้นมัธยม 3-8 ที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน จบชั้นมัธยม 8 เมื่อ พ.ศ. 2466 และต่อมาใน พ.ศ. 2467 ไปเรียนต่อปริญญาตรี สาขาเกษตรที่ College of Agriculture, University of the Philippines at Los Banos ประเทศฟิลิปปินส์ จบปริญญาตรี พ.ศ. 2470 ต่อมาได้รับทุนไปเรียนต่อที่ Cornell University และ University of Maryland ใน พ.ศ. 2492 ใช้เวลาเรียน 1 ปีครึ่ง ได้รับปริญญา MSc. (Horticulture) ใน พ.ศ. 2493 และได้รับการบรรจุเป็นอาจารย์ที่โรงเรียนมัธยมวัดเทพศิรินทร์ กระทรวงธรรมการ ประมาณ 1 ปี
เนื่องจากศาสตราจารย์จรัด สุนทรสิงห์ เรียนมาทางสาขาเกษตร ต่อมาจึงได้รับการชักชวนให้ย้ายไปสอนที่โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมทับกวาง ที่อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ในตำแหน่งผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ ซึ่งอาจารย์ใหญ่ในขณะนั้นคือ คุณหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ ได้มีโอกาสร่วมงานกับคุณหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจที่โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมแห่งนี้เพียงประมาณ 3 ปี คือตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2471 ถึงวันที่ 30 กรกฎาคม 2474 (ใน พ.ศ. 2472 ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นรองอำมาตย์เอก) ต่อมาได้มีคำสั่งย้ายให้ไปช่วยคุณหลวงอิงคศรีกสิการ ก่อตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมโนนวัด ตำบลโนนสูง อำเภอโนนวัด (ปัจจุบันเป็นอำเภอโนนสูง) จังหวัดนครราชสีมา สังกัดกรมศึกษาธิการ กระทรวงธรรมการ ศาสตราจารย์จรัด สุนทรสิงห์ ได้ช่วยสร้างโรงเรียน จัดทำหลักสูตร และวิชาเรียนให้กับโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมโนนวัดจนได้มาตรฐาน โดยใช้เวลาถึง 6 ปี คือตั้งแต่ พ.ศ. 2474-2480
ต่อมาศาสตราจารย์จรัด สุนทรสิงห์ ได้ย้ายไปสอนที่กองวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ (ภายหลังยกฐานะเป็นวิทยาลัยเกษตรกรรมแม่โจ้) สังกัดกรมเกษตร กระทรวงเกษตราธิการ ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการ ได้ทำหน้าที่ผู้ช่วยผู้อำนวยการอยู่เพียง 2 เดือนเท่านั้น ผู้อำนวยการคุณพระช่วงเกษตรศิลปการได้ย้ายไปรับตำแหน่งสูงขึ้นคือ ไปเป็นอธิบดีกรมเกษตร กระทรวงเกษตราธิการ ศาสตราจารย์จรัด สุนทรสิงห์ จึงได้เป็นผู้อำนวยการแทนและทำงานในตำแหน่งผู้อำนวยการกองวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แม่โจ้ได้ประมาณ 20 เดือน เมื่อได้วางระบบระเบียบตลอดจนหลักสูตรต่างๆ ลงตัวดีแล้ว ศาสตราจารย์จรัด สุนทรสิงห์จึงขอย้ายเข้ากรุงเทพฯ โดยได้รับอนุมัติจากกรมเกษตรเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2481 ให้ย้ายไปประจำกรมวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กระทรวงเกษตราธิการ (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการ ซึ่งอาจารย์เริ่ม บูรณฤกษ์ เพื่อนนักเรียนรุ่นเดียวกันสมัยเรียนที่ประเทศฟิลิปปินส์ เป็นผู้อำนวยการอยู่ศาสตราจารย์จรัด สุนทรสิงห์เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการอยู่ไม่นาน อาจารย์เริ่ม บูรณฤกษ์ ได้ขอย้ายตัวเองเข้ากรมเพื่อเปิดโอกาสให้ศาสตราจารย์จรัด สุนทรสิงห์เป็นผู้อำนวยการกรมวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แทน
อนึ่ง กรมวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อ พ.ศ. 2482 มีหลักสูตร 3 ปี ขั้นอนุปริญญา แบ่งเป็น 3 แผนกคือ เกษตรศาสตร์ สหกรณ์ และวนศาสตร์ ต่อมารัฐบาลสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีได้ตระหนักถึงความสำคัญทางด้านการเกษตร ด้วยความพยายามปลุกปล้ำและผลักดันของสามบูรพาจารย์คือ คุณพระช่วงเกษตรศิลปการ คุณหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ และคุณหลวงอิงคศรีกสิการโดยอาศัยเหตุผลที่ว่าประชากรไทยถึง 95 เปอร์เซ็นต์ประกอบอาชีพทางการเกษตร สมควรที่จะต้องมีมหาวิทยาลัยที่มีการเรียนการสอนทางด้านการเกษตรอย่างเป็นเรื่องเป็นราวถึงระดับปริญญาตรี เพื่อพัฒนาอาชีพทางการเกษตรให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น และด้วยความมักน้อย ในชั้นต้นคุณหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจได้เสนอขอเป็นเพียงวิทยาเขต หรือคณะหนึ่งของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่ได้รับการปฎิเสธจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยอ้างเหตุผลว่างบประมาณไม่เพียงพอ และในขณะนั้นประเทศไทยมีเพียงสามมหาวิทยาลัยเท่านั้น คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามจึงมีนโยบายให้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยที่มีการเรียนการสอนทางด้านเกษตรเป็นหลัก โดยคณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้คุณพระประกาศสหกรณ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงเกษตราธิการไปดำเนินการ พระประกาศสหกรณ์ได้แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการขึ้นหนึ่งชุด โดยมีศาสตราจารย์จรัด สุนทรสิงห์ผู้อำนวยการกรมวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นประธาน กรรมการส่วนใหญ่เป็นอาจารย์ผู้ซึ่งเคยทำงานร่วมกันมาแล้วในสมัยอยู่โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมในต่างจังหวัด มีอาทิ อาจารย์กวี วิสุทธารมณ์ อาจารย์แทน อิงคสุวรรณ ครูใช้ ขัยฉ่ำ ครูสุวัฒน์ วงศ์จันดารักษ์ และครูบุนนาค มหาเกตุ เป็นต้น เริ่มรับนิสิตรุ่นแรกเมื่อ พ.ศ. 2484 โดยรับนิสิตเพียง 15 คน เป็นการต่อยอดจากวิทยาลัยเกษตรกรรมแม่โจ้เข้าเรียนในคณะเกษตรศาสตร์ 4 คน อีก 11 คน รับจากโรงเรียนป่าไม้แพร่เข้าเรียนในคณะวนศาสตร์
เมื่อการก่อตั้งมหาวิทยาลัยดำเนินไปจนกระทั่งรับนิสิตรุ่นแรกเข้าเรียนเรียบร้อยแล้ว แต่มหาวิทยาลัยยังไม่มีชื่อ ดังนั้นจึงมีการเปิดให้เสนอชื่อ และลงคะแนนเลือกชื่อมหาวิทยาลัย ในที่ประชุมกรรมการสภาฯ ปรากฏว่าได้ชื่อ กรมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งศาสตราจารย์จรัด สุนทรสิงห์ เป็นผู้เสนอ ต่อมาได้มีการตราพระราชบัญญัติกรมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. 2486 ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 60 ตอนที่ 7 เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2486 จึงถือเอาวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็นวันสถาปนาของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
แต่เดิมกรมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีเพียง 4 คณะคือ คณะเกษตรศาสตร์ คณะวนศาสตร์ คณะการประมง และคณะสหกรณ์ โดยคณะเกษตรศาสตร์ และคณะการประมงตั้งอยู่ที่เกษตรกลางบางเขน คณะวนศาสตร์ตั้งอยู่ที่จังหวัดแพร่ ส่วนคณะสหกรณ์ตั้งอยู่ในพระนคร เนื่องจากกรมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ยังคงสังกัดกระทรวงเกษตราธิการ ดังนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการในขณะนั้นคือ พลเรือเอกสินธุ์ กมลนาวิน (หลวงสินธุ์สงครามชัย) จึงได้เป็นอธิการบดีคนแรก วาระ 2 ปี ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน 2486 ถึงวันที่ 26 กันยายน 2488 อธิการบดีคนที่ 2 คือ นายทวี บุญเกตุ รัฐมนตรีกระทรวงเกษตราธิการเช่นกัน แต่ดำรงตำแหน่งอยู่เพียงปีกว่าๆ คือตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2488 ถึงวันที่ 5 พฤษภาคม 2489 ทั้งนี้เพราะสภากรมมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ได้พิจารณาเห็นว่าตำแหน่งอธิการบดีสมควรเป็นของข้าราชการประจำแทนรัฐมนตรี ซึ่งเป็นตำแหน่งทางการเมือง ดังนั้นคุณหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจจึงได้รับการแต่งตั้งเป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นคนแรก และในฐานะกรมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีฐานะเป็นกรมหนึ่งในกระทรวงเกษตราธิการ ท่านจึงต้องดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีของกรมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ไปด้วยพร้อมๆ กันอีกตำแหน่งหนึ่ง โดยมี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ เป็นรองอธิการบดี และคุณหลวงอิงคศรีกสิการตำแหน่งอธิบดีกรมการกสิกรรมเป็นคณบดีคณะเกษตรศาสตร์ ศาสตราจารย์บุญ อินทรัมพรรย์ อธิบดีกรมการประมงเป็นคณบดีคณะการประมง หม่อมเจ้าสืบสุขสวัสดิ์ สุขสวัสดิ์อธิบดีกรมป่าไม้เป็นคณบดีคณะวนศาสตร์ ส่วนคณบดีคณะสหกรณ์ได้แก่พระพิจารณ์พานิช อธิบดีกรมสหกรณ์
ศาสตราจารย์จรัด สุนทรสิงห์ นอกจากจะเป็นผู้บุกเบิกก่อตั้งสถาบันการเรียนการสอนทางการเกษตรนับตั้งแต่โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมหลายแห่งแล้ว ยังเป็นประธานคณะกรรมการดำเนินการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งได้เสนอชื่อเป็นกรมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตลอดจนร่างกฎระเบียบบริหาร สร้างหลักสูตรวิชาเรียน ทั้งหลายทั้งปวง จนสามารถรับนิสิตรุ่นแรกได้ใน พ.ศ. 2484 โดยใช้เวลาเพียง 2 ปี ตลอดจนได้มีการประกาศพระราชบัญญัติกรมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2486 เป็นที่เรียบร้อยครบถ้วนสมบูรณ์ นับเป็นคุณูปการใหญ่หลวงที่ท่านได้ทำให้แก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และแผ่นดินเกิด
ศาสตราจารย์จรัด สุนทรสิงห์ ไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่นั้น ด้วยท่านเป็นนักเรียนนอกและเป็นคนเก่ง คนดี มีความสามารถ ท่านจึงได้คิดอ่านพัฒนาการเรียนการสอนตลอดจนการบริหารกรมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ให้ได้มาตรฐานทัดเทียมต่างประเทศอย่างไม่หยุดยั้ง โดยเฉพาะท่านได้สัมผัสและคุ้นเคยกับการเรียนในระบบหน่วยกิตมาแล้วเมื่อครั้งเรียนที่ประเทศฟิลิปปินส์ (พ.ศ. 2468-2470) ท่านเห็นว่ามีข้อดีมากกว่าข้อเสีย จึงอยากจะนำระบบหน่วยกิตมาใช้ในประเทศไทยบ้าง (ถ้ามีโอกาส) แต่ยังเกรงผู้ใหญ่เขม่น เพราะก่อนหน้านี้เมื่อครั้งเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ ท่านถูกผู้ใหญ่ในกระทรวงธรรมการตั้งกรรมการสอบสวนกล่าวหาว่าสอนนอกหลักสูตร เอาวิชาร้องเพลงไร้สาระมาสอนเด็ก (ศาสตราจารย์จรัด สุนทรสิงห์ ได้แต่งเพลงเชียร์พร้อมให้ทำนอง ให้นักเรียนร้องเชียร์กีฬาฟุตบอลของโรงเรียน และได้ผลดีมาก นักกีฬามีกำลังใจเล่นจนเอาชนะฝ่ายตรงข้ามได้ ซึ่งเป็นที่มาของเพลงเชียร์ เป็นที่นิยมทั่วประเทศไทยจนถึงปัจจุบันนี้) จึงถูกทำโทษให้ลดตำแหน่งจากอาจารย์สอนชั้นเตรียมอุดม (ม.7-ม.8)มาเป็นครูสอนชั้นประถม 1-2 แทน ยังมีอีกกรณีหนึ่งคือก่อน พ.ศ. 2475 ไม่มีการพิมพ์หรือเขียนชื่อตัวบรรจงในวงเล็บใต้ลายเซ็น ดังที่นิยมใช้ในปัจจุบัน ทั้งๆ ที่ในต่างประเทศเขาปฏิบัติกันมานานแล้ว ท่านจึงได้นำเอามาปฏิบัติเมื่อครั้งเป็นผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ที่โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมทับกวาง ปรากฏว่าถูกผู้ร่วมงานบางคนฟ้องมายังกระทรวงธรรมการต้นสังกัด ผลการสอบสวนปรากฏว่าผิดเพราะไม่มีในกฎกระทรวง จึงถูกลดขั้นเงินเดือน แต่โชคดีที่ท่านเจ้าคุณพหลพลพยุหเสนา ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นทราบเรื่อง และเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีควรถือปฏิบัติ จึงรอดตัวมาได้และให้ถือปฏิบัติมาตราบจนปัจจุบันนี้
ศาสตราจารย์จรัด สุนทรสิงห์ เขียนไว้ในบทความเรื่อง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เมื่อครั้งกระโน้น ในเกษตรศาสตร์ 40 ปี ว่า …เมื่อมีโอกาสได้เป็นคนร่างระเบียบการ หลักสูตร และวิชาเรียนของมหาวิทยาลัยเป็นคนแรก ก็เลยฉวยโอกาสที่คนเผลอยัดระบบหน่วยกิตลงในระเบียบทันที โดยเริ่มใช้เมื่อปี พ.ศ. 2488 ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นแห่งแรกในประเทศไทย ก่อนสถาบันการศึกษาแห่งอื่น ซึ่งศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร เป็นพยานเพราะปรึกษากันบ่อยๆ… นอกจากเรื่องของหลักสูตรที่มีการเรียนในระบบหน่วยกิตแล้ว ท่านยังเป็นผู้จัดทำคู่มือหลักสูตร ระเบียบการฉบับภาษาไทยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ไว้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุด และยังได้ทำเป็นฉบับภาษาอังกฤษไว้ด้วย โดยเขียนชื่อมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นภาษาอังกฤษว่า Kasetsart University ซึ่งใช้มาตราบเท่าทุกวันนี้
นอกจากนั้นท่านยังเป็นผู้ริเริ่มให้มีการให้คะแนนเป็นอันดับ (แต้มระดับคะแนน) แทนการให้คะแนนเป็นร้อยละ ซึ่งนิยมใช้แพร่หลายทั้งในโรงเรียนมัธยมและมหาวิทยาลัยทั่วไปในประเทศไทยในปัจจุบันนี้
ศาสตราจารย์จรัด สุนทรสิงห์ เป็นคนเจ้าระเบียบ ละเอียด ถี่ถ้วน พิถีพิถันและตรงต่อเวลาที่สุด อีกทั้งเชี่ยวชาญในเรื่องของหลักสูตรและวิชาเรียนมากทั้งนี้เพราะท่านทำมากับมือ สามารถจำหน้าและชื่อนิสิตได้แทบทุกคนทำให้นิสิตเกรงกลัวมาก นิสิตชายชั้นปีที่ 1 บางคนจะพยายามหลบหน้าและไม่ยอมสบตาท่าน โดยการดึงแก๊ปหมวกเขียวลงมาหลุบหน้าเพื่อหลีกเลี่ยงการทำความเคารพ แต่ลืมไปว่าที่หน้าหมวกแก๊ปมีทั้งชื่อและนามสกุลชัดเจน จึงไม่ต้องแปลกใจที่จะได้รับการขานชื่อทันที ที่นิสิตผู้นั้นเข้าเรียนในวิชาของท่าน
เนื่องจากศาสตราจารย์จรัด สุนทรสิงห์ ได้จัดวางหลักสูตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นระบบหน่วยกิต ซึ่งเอื้อให้นิสิตบริหารจัดการการเรียนการสอนได้ด้วยตนเองในระดับหนึ่ง โดยการเลือกไม่ลงวิชาที่นิสิตไม่ถนัดและยากมากๆ ในเวลาเดียวกัน นิสิตสามารถสลับวิชาหลักวิชารองได้ หรือจะให้จบช้าหรือเร็วกว่ากำหนดตามความสามารถของแต่ละบุคคล ทั้งนี้ต้องไม่ขัดต่อระเบียบของมหาวิทยาลัย การลงทะเบียนเรียนของนิสิตทุกคนในอดีตจะต้องผ่านการได้รับความเห็นชอบจากศาสตราจารย์จรัด สุนทรสิงห์ ก่อน ดังนั้นนิสิตทุกคนต้องรอบคอบ พิถีพิถันในการจัดวิชาและตารางเรียนในแต่ละเทอม เพราะถ้าหากท่านพบที่ผิดเพียงเล็กน้อยแม้ตัวสะกด จะถูกสั่งให้ไปแก้ไขให้ถูกต้องและไปต่อคิวใหม่ แม้นิสิตผู้นั้นแก้ไขมาแล้ว เข้าคิวใหม่แล้วจนยืนจ่อหัวคิวคนแรก แต่เมื่อนาฬิกาบอกเวลา 12.00 น. หรือ 16.30 น. ก็ต้องกลับมาเข้าคิวใหม่ในตอนบ่ายหรือในวันรุ่งขึ้น ซึ่งดูเหมือนจะโหดร้ายทารุณมากสำหรับนิสิตในขณะนั้น แต่เมื่อสำเร็จปริญญาพ้นรั้วมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ไปแล้ว จะรู้สึกระลึกถึงพระคุณของศาสตราจารย์จรัด สุนทรสิงห์ มิรู้ลืม ที่ท่านได้ช่วยปลูกฝังให้เป็นคนละเอียดรอบคอบ ถี่ถ้วน มีระเบียบวินัย รู้จักอดทนต่อการรอคอย ตลอดจนมีวัฒนธรรมในการเข้าคิว และในอีกหลายๆ เรื่องที่หยั่งรากฝังลึกลงไปในหัวใจของลูกศิษย์โดยไม่ทันรู้ตัว
ด้วยศาสตราจารย์จรัด สุนทรสิงห์ มีความรู้ความสามารถในวิชาการหลายแขนง โดยเฉพาะวิชาฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ท่านจึงต้องรับผิดชอบการสอนหลายวิชา มีอาทิ ฟิสิกส์ แคลคูลัส และสรีรวิทยาของพืช ได้แต่งตำรา 3 เล่ม แต่มีหลักฐานเหลืออยู่เพียงเล่มเดียวคือ ตำรา ชีววิทยาอย่างง่าย : พฤกษศาสตร์ และยังได้เขียนบทความลงในวารสารทางการเกษตรในสมัยนั้นอยู่เป็นประจำ อีกทั้งทำงานวิจัยเกี่ยวกับหลักการขยายพันธุ์พืช : ติดตา (budding) ต่อกิ่ง (grafting) และประกับกิ่ง (inarching) ในสมุดประวัติได้บันทึกไว้ว่า …กำลังทำการค้นคว้าเรื่องหลักการขยายพันธุ์พืช (Plant Propagation) บางอย่างของประเทสไทย โดยการต่อต้นไม้ 2 ต้นให้ติดกัน ซึ่งเรียกตามภาสาเท็คนิคว่า ติดตา (Budding) ต่อกิ่ง (Grafting) และประกับกิ่ง (Inarching) ซึ่งจะทำให้แผ่พันธ์ไม้ผลดีๆ ได้รวดเร็วยิ่งขึ้นกว่าวิธีอื่น ได้แต่งหนังสือหลักวิชาการไว้ 1 เล่ม ชื่อว่า ชีววิทยาอย่างง่าย ภาค 1 ว่าพรึกสสาสตร์… แม้ว่าศาสตราจารย์จรัด สุนทรสิงห์ จะไม่ได้สอนวิชาภาษาอังกฤษโดยตรง แต่นิสิตในชั้นเรียนของท่านจะได้รับการสอนคำศัพท์ภาษาอังกฤษเป็นประจำครั้งละ 2-3 คำ โดยสอนการเน้นเสียงในตำแหน่งที่ถูกต้อง อย่างน้อย 5 นาทีในทุกชั่วโมงที่มีการสอนในวิชาของท่าน ทำให้นิสิตได้รับความรู้ในการออกเสียงคำภาษาอังกฤษอย่างถูกต้อง
ศาสตราจารย์จรัด สุนทรสิงห์ เป็นคนสมถะ ดำรงชีวิตอย่างเรียบง่าย มีเอกลักษณ์ของตัวท่านเองโดยเฉพาะ ไม่อวดตัว ไม่แสดงตนแม้มีความรู้ความสามารถสูง แต่กล้าคิดกล้าทำ ท่านได้ริเริ่มทำและนำสิ่งใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์มาปฏิบัติเป็นคนแรกของประเทศไทยหลายเรื่องโดยไม่มีใครรู้ ถูกตั้งกรรมการสอบสวนหลายครั้ง ถูกทำโทษ ถูกลดตำแหน่งและลดขั้นเงินเดือน กล่าวได้ว่าการทำความดีของท่านเป็นการปิดทองหลังพระโดยแท้ ที่สำคัญยิ่งคือศาสตราจารย์จรัด สุนทรสิงห์ เป็นกำลังสำคัญยิ่งในการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตลอดจนจัดทำหลักสูตรวิชาเรียน วางกฎระเบียบในการบริหารจัดการที่ทันสมัยเป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ ไม่เฉพาะมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เท่านั้น ท่านยังมีส่วนร่วมในการก่อตั้ง และวางรากฐานมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์อีกด้วย
รางวัลชีวิตที่ท่านได้รับคือ ความภาคภูมิใจที่ได้มีโอกาสทำคุณประโยชน์ให้แก่วงการเกษตรสมกับที่ได้ข้ามน้ำข้ามทะเลไปเสาะแสวงหาความรู้ทางด้านนี้มาอย่างเหนื่อยยาก ท่านได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทวิติยาภรณ์ช้างเผือก เมื่อ พ.ศ. 2506 ได้รับปริญญากสิกรรมและสัตวบาลดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. 2508 และเกษียณอายุราชการใน พ.ศ. 2509 ในตำแหน่งคณบดีคณะกสิกรรมและสัตวบาลมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ในด้านครอบครัวนั้น ศาสตราจารย์จรัด สุนทรสิงห์ สมรสกับนางเนียน มีบุตรชาย 1 คนคือ รองศาสตราจารย์ศักดิ์ สุนทรสิงห์ เมื่อนางเนียนถึงแก่กรรมได้สมรสกับนางประยงค์ มีบุตรสาว 1 คนคือ นางเครือ สุนทรสิงห์
ศาสตราจารย์จรัด สุนทรสิงห์ ได้ทำหน้าที่ครูตั้งแต่ พ.ศ. 2471 จวบจน พ.ศ. 2509 อย่างต่อเนื่องยาวนานถึง 38 ปี มีลูกศิษย์เป็นพันเป็นหมื่น ที่สำคัญที่ท่านภาคภูมิใจที่สุดคือลูกศิษย์ส่วนใหญ่ของท่านเจริญก้าวหน้าเป็นใหญ่เป็นโตเกินความคาดหมาย และเมื่อถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2538 ศาสตราจารย์จรัด สุนทรสิงห์ ยังทำหน้าที่ ครู โดยการอุทิศร่างเป็นการกุศลให้กับโรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อเป็นประโยชน์ในการศึกษาของนิสิตแพทย์และวงการแพทย์ต่อไป คุณูปการทั้งหลายทั้งปวงที่มีคุณค่ามหาศาลที่ศาสตราจารย์จรัด สุนทรสิงห์ มอบไว้ให้กับลูกศิษย์วงวิชาการ วงการเกษตร ตลอดจนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และแผ่นดินเกิดมีมากมายสุดจะคณานับ เป็นแบบอย่างที่ดีเยี่ยมสมควรแก่การยกย่องเป็นอย่างยิ่ง
แหล่งข้อมูล
ศักดิ์ สุนทรสิงห์. สัมภาษณ์, 2 กันยายน 2545.
จรัส สุนทรสิงห์. สมุดประวัติประจำตัวข้าราชการกระทรวงธรรมการ, 2471.
Comments
Post a Comment